วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อายาจิตรภัตตชาดก ::สาเหตุที่ตรัสชาดก::

อายาจิตรภัตตชาดก

       

พระภิกษุเห็นชาวบ้านชาวเมืองพากันฆ่าสัตว์แก้บน หลังจากเดินทางไปค้าขายต่างเมืองกลับมา โดยปลอดภัย และได้กำไรดี จึงพากันไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า การฆ่าสัตว์แก้บนจะได้บุญหรือ

          ในอดีตกาล มีพ่อค้าคนหนึ่งจะเดินทางไปค้าขายยังเมืองไกล จึงพาบริวารมากราบไหว้ต้นไทรใหญ่หน้าบ้านของตน อธิษฐานขอให้เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ช่วยปกป้องคุ้มครองตนเองและพวกพ้องให้เดินทางโดยปลอดภัย ค้าขายได้กำไรงาม เมื่อกลับมาแล้วจะแก้บนให้ยิ่งใหญ่ทีเดียว

          ก่อนออกเดินทาง พ่อค้าได้ตระเตรียมการอย่างรอบคอบ จากนั้น จึงนำสินค้าบรรทุกเกวียนออกเดินทางไป ระหว่างทางได้ใช้เสบียงอาหารอย่างประหยัด เวลากลางคืนก็จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มแข็ง เนื่องจากพ่อค้าได้ศึกษาสภาพภูมิอากาศ และการทำมาหากินของคนในเมืองนั้น ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางแล้วว่าเป็นอย่างไร จึงได้นำสินค้าที่หายากและมีราคาแพงสำหรับที่นั่นไปขาย บางอย่างก็เป็นของแปลกใหม่ พ่อค้าวาณิชและชาวเมืองทั้งหลาย จึงพากันมาอุดหนุนอย่างคับคั่ง เขาจึงขายสินค้าได้กำไรงามสมดังที่หวังไว้

          เมื่อขายสินค้าที่นำไปจนหมดแล้ว เขาก็ซื้อสินค้าที่เป็นที่ต้องการของชาวเมืองของเขา บรรทุกเกวียนกลับมาค้าขายหากำไรต่อไปอีกด้วย

          ตลอดทางกลับบ้านเที่ยวนั้นพ่อค้าสุขใจยิ่งนัก เขาระลึกถึงคุณของเทวดา ที่ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองตน และบริวารให้ปลอดภัย และค้าขายได้กำไรงาม ขณะเดียวกัน ข่าวการกลับมาของพ่อค้า ก็แพร่กระจายไปสู่เพื่อนบ้านเรือนเคียงกันอย่างรวดเร็ว ต่างพากันมาต้อนรับและแสดงความยินดี

          พ่อค้าได้สั่งบริวารให้ฆ่าแพะ แกะ เป็น ไก่ พร้อมทั้งนำอาหารคาวหวานอีกมากมายมาแก้บนที่ต้นไทรใหญ่หน้าบ้าน
          ขณะนั้น ณ ต้นไทรใหญ่ รุกขเทวดาก็ปรากฏร่างขึ้นพร้อมกับถามว่า
          “ท่านวาณิช ท่านฆ่าสัตว์มากมายเพื่ออะไรกัน?”
          เมื่อพ่อค้าและบริวารตลอดจนฝูงชนที่อยู่ ณ ที่นั่น เห็นรุกขเทวดาปรากฏร่าง ก็ก้มลงกราบอย่างนอบน้อม พ่อค้ากล่าวขึ้นว่า
          “พวกข้าพเจ้าค้าขายได้กำไรงาม ทั้งการเดินทางก็ราบรื่นปลอดภัย เพราะได้บารมีของท่านช่วยคุ้มครอง พวกข้าพเจ้าจึงตอบแทนพระคุณตามที่ได้บนไว้แต่แรก”
          รุกขเทวดาได้ฟังก็หัวเราะและกล่าวว่า

          “พุทโธ่เอ๋ย! พวกท่านเข้าใจผิดเสียแล้ว ตลอดเวลาเราก็อยู่ที่ต้นไทรนี้ ไม่ได้ติดตามไปช่วยอะไรใครเลย ที่ท่านเดินทางโดยปลอดภัย และค้าขายได้กำไรงามนั้น เป็นเพราะความสามารถของท่านเองต่างหากเล่า ไม่ใช่เพราะเราหรอก”

          “เราขอเตือนว่า ถ้าท่านปรารถนาจะแก้บน ก็จงแก้ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเถิด เมื่อท่านละโลกนี้ไปแล้ว ท่านก็จะพ้นทุกข์ในโลกหน้า คือ ไม่ต้องไปตกอยู่ในอบายภูมิทั้ง ๔ แต่ถ้าท่านแก้บนด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็เท่ากับจะยิ่งติดเข้าไปในความทุกข์หนักขึ้นไปอีก เพราะเป็นการก่อบาปกรรม ผู้มีปัญญาจึงไม่ทำเช่นนี้ วิธีนี้เป็นวิธีของคนพาลโดยแท้”

          รุกขเทวดาได้แจกแจงโทษของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้วก็อันตรธานหายไป พ่อค้าพร้อมทั้งบริวาร และเพื่อนบ้านได้ฟังแล้วต่างพากันกลัวบาป เลิกการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เมื่อละโลกแล้ว ต่างได้ไปเกิดในสุคติภพ ตามกำลังแห่งกรรมดีของตนโดยทั่วหน้ากัน

::ข้อคิดจากชาดก::

          ๑. ผู้ที่ฆ่าสัตว์ ไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมไม่ได้บุญเลย แต่กลับจะได้รับทุกข์ เพราะเป็นการก่อบาปก่อเวรให้ตนเองทั้งสิ้น
          ๒. การทำพลีกรรมด้วยดอกไม้ธูปเทียน หรือถวายทานแด่พระภิกษุสามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ เป็นการบวงสรวงเทวดาอย่างถูกวิธี เรียกว่า เทวตาพลี
          ๓. การบนบานศาลกล่าว เป็นเรื่องของคนงมงายไร้เหตุผล เพราะเมื่อบุคคลประกอบเหตุที่ดีไว้แล้ว คือ ตั้งใจทำงานด้วยความมีสติรอบคอบแล้ว ย่อมได้รับผลสำเร็จอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น