วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ติปัลลัตถมิคชาดก

ติปัลลัตถมิคชาดก


 ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากนครอาฬวีไปยังนครโกสัมพี ประทับอยู่ที่พทริการาม ครั้งนั้น มีพระภิกษุตามเสด็จจำนวนมาก กุฏิที่มีอยู่จึงไม่พอ ทำให้สามเณรราหุลซึ่งปกติ ได้อาศัยนอนค้างร่วมกับพระเถระองค์ใดองค์หนึ่งเสมอ ไม่มีที่นอนเพราะภิกษุต่างเกรงอาบัติผิดวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่า “ห้ามพระภิกษุนอนในที่มุงบังเดียวกันกับผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุ”
 
        เมื่อสามเณรราหลุไม่มีที่นอน ก็มิได้โต้แย้ง ด้วยความที่มีอัธยาศัยงาม เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย และเคารพในพระวินัยอย่างเคร่งครัด จึงพยายามช่วยเหลือตนเอง ด้วยการอาศัยนอนในเวจกุฎี (ห้องส้วม) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช้ามืดนั้นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาที่เวจกุฎี ก่อนเข้าไปได้ทรงกระแอมขึ้น สามเณรราหุลกระแอมตอบ แล้วออกมากราบทูล ถึงสาเหตุที่มานอนในเวจกุฎีนี้
 
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดธรรมสังเวช จึงประชุมสงฆ์ในเช้าตรู่วันนั้น แล้วตรัสว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายไม่เอาใจใส่ดูแลสามเณรราหุล ทอดทิ้งได้อย่างนี้ ต่อไปภายหน้าสามเณรอื่นๆ มาบวชคงไม่มีที่พึ่ง”
 
        พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นใหม่ว่า “นับแต่นี้ไป อนุญาตให้สามเณรหรือผู้ไม่ใช่ภิกษุ นอนในที่มุงบังเดียวกันกับภิกษุได้ไม่เกินสามคืน เมื่อถึงคืนที่สี่ ต้องไปหาที่นอนที่อื่นๆ”
        เย็นวันนั้น พระภิกษุทั้งหลายประชุมกัน กล่าวสรรเสริญสามาเณรราหุลเป็นสามเณรใจเพชร เคารพ และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่า พระภิกษุกำลังปรารภกันถึงเรื่องนี้อยู่ จึงทรงระลึกชาติหนหลัง แล้วตรัส ติปัลลัตถมิคชาดก ดังนี้
 
        เนื้อหาชาดก ในอดีตกาล ณ ชายป่าใกล้กรุงราชคฤห์ มีกวางฝูงใหญ่ฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ วันหนึ่งน้องสาวของพญากวาง นำลูกน้อยของตนมาฝากให้พญากวางช่วยสอนวิชา มฤคมายา อันเป็นวิชาที่ว่าด้วย การแสดงมายาเพื่อรักษาตัวรอด ลูกกวางน้อยตั้งใจเรียนเป็นอย่างดี พญากวางจึงเมตตา ถ่ายทอดวิชามฤคมายาให้จนหมดสิ้น
 
        อยู่มาวันหนึ่ง บังเอิญกวางน้อยไปติดบ่วงของนายพรานเข้า แต่ลูกกวางน้อยมีสติ มิได้เสียขวัญแต่อย่างใด กลับบอกให้เพื่อนๆ รีบหนีไปเสีย บรรดาเพื่อนๆ จึงรีบกลับไปแจ้งข่าวร้ายนี้แก่นางกวางผู้เป็นแม่ นางกวางตกใจมาก รีบวิ่งไปหาพญากวาง บอกว่าลูกของฉันติดบ่วงนายพรานเสียแล้ว “พี่สอนวิชาให้หลานจบแล้วหรือ?”
 
        พญากวางจึงปลอบนางกวางว่า บุตรชายของนางตั้งใจเรียนเป็นอย่างดีย่อมปลอดภัยแน่นอน ฝ่ายลูกกวางน้อย เมื่อติดบ่วงแล้วก็สำรวมสติมั่น นึกทบทวนวิชาที่ได้ร่ำเรียนมา จากพญามารผู้เป็นลุง แล้วทำมารยา ๖ ประการ กล่าวคือ
 
        แสร้งตะกุยดินให้เป็นฝุ่นอยู่ข้างหน้า แล้วเตะฝุ่นให้ฟุ้งกระจายดูราวกับว่า ได้ตะกุยจนเต็มแรงแล้ว จากนั้นก็ล้มตัวลงนอนตะแคง เหยียดเท้าทั้งสี่ออกไปด้านข้าง เกร็งตัวแข็งทื่อเหมือนกับว่าตายมานานแล้ว สักพักหนึ่ง ฝูงแมลงวันพากันมาตอมอุจจาระปัสสาวะ ฝูงกาก็บินมาเกาะกิ่งไม้คอยทีอยู่ เมื่อนายพรานมาถึง เห็นลูกกวางนอนตัวพองขึ้นอืดอยู่ ก็เอานิ้วดีดท้องลูกกวาง ได้ยินเสียงดัง ปุ ปุ จึงหลงเข้าใจว่าลูกกวางน้อยตายจนขึ้นอืดแล้ว จึงรีบถอดบ่วงออกจากคอ ตั้งใจจะชำแหละเนื้อในที่นั้น ทันทีที่บ่วงหลุด ลูกกวางน้อยก็กระโจนหนีไป ด้วยความเร็วราวกับลมพัด กลับไปหามารดาและพญากวางผู้เป็นลุงทันที
 
        ประชุมชาดก เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสชาดกจบแล้ว ทรงแสดงธรรมให้ลุ่มลึกตามลำดับ พระภิกษุจำนวนมากบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า
 
ลูกกวางน้อย ได้มาเป็น สามเณรราหุล
แม่กวาง ได้มาเป็น พระอุบลวรรณาเถรี
พญากวาง ได้มาเป็น พระองค์เอง

 
::ข้อคิดจากชาดก::
 
          ๑.บางครั้งหากมีความจำเป็นต้องนอนในที่เดียวกับคนอื่น เช่น ในโอกาสไปพักแรมต่างจังหวัด จึงควรระมัดระวังให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่ง
 
          ๒. เมื่อเราได้ร่ำเรียนวิชาจากครูบาอาจารย์แล้ว ควรเรียนรู้ให้แตกฉาน นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต หรือ แม้กระทั่งรักษาชีวิตของตนได้ ดังคำของกวีสุนทรภู่ ที่กล่าวว่า รู้อะไรแม้รู้เพียงเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล
 
          ๓.ศิษย์เมื่อมีความศรัทธา มีความเคารพในครูบาอาจารย์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว จะปฏิบัติตามคำสั่งสอน โดย ไม่โต้แย้งหรือบิดพริ้ว ทำให้ครูบาอาจารย์มีความเมตตา เอ็นดู ปรารถนาจะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

อุจฉังคชาดก

อุจฉังคชาดก


สมัยพุทธกาล ณ แคว้นโกศล มีโจรกลุ่มหนึ่งปล้นสะดมชาวบ้านแล้วหนีไป ชาวบ้านจึงพากันหาโจรจนมาถึงหมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง พบชาย ๓ คนกำลังไถนาอยู่ จึงคิดว่าเป็นโจรปลอมเป็นชาวนา จึงจับกุมทุบตีแล้วคุมตัวมาถวายพระเจ้าโกศล

.....ต่อมา ได้มีหญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง เดินร้องให้รำพันรอบๆ พระราชวัง ขอพระราชทานเครื่องนุ่งห่ม ความทราบถึงพระเจ้าโกศล พระองค์มีรับสั่งให้นำผ้าสาฎกไปมอบให้แก่นาง แต่นางกลับยิ่งร้องไห้หนักขึ้นและกล่าว “ขอพระราชทานเครื่องนุ่งห่ม คือสามี”

.....ราชบุรุษจึงนำนางไปเข้าเฝ้า พระเจ้าโกศลได้ทรงซักถาม นางจึงว่า “สามีชื่อว่าเครื่องนุ่งห่มของหญิง เมื่อไม่มีสามี แม้จะนุ่งห่มผ้าราคาตั้ง ๑,๐๐๐ กษาปณ์ ก็ชื่อว่าหญิงเปลือยอยู่นั่นเอง แม่น้ำไม่มีน้ำ ชื่อว่าเปลือย แว่นแคว้นไม่มีราชา ชื่อว่าเปลือย หญิงปราศจากสามี ถึงจะมีพี่น้องตั้ง ๑๐ คน ก็ชื่อว่าเปลือย”

.....พระเจ้าโกศลเกิดเลื่อมใสจึงตรัสคืนชายหนึ่งคนให้ นางจึงขอพี่ชายและให้เหตุผลว่า ถ้ายังมีชีวิตย่อมหาสามีใหม่และมีบุตรใหม่ได้ แต่บิดามารดาได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ไม่อาจจะมีพี่ชายได้อีก พระเจ้าโกศลเห็นความฉลาดของนางจึงโปรดไว้ชีวิตชายทั้งสาม

.....เรื่องดังกล่าวเลื่องลือแม้กระทั่งในหมู่ภิกษุ ความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงระลึกชาติหนหลังด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสเล่า อุจฉังคชาดก


 :: ข้อคิดจากชาดก :: 
.....๑. ผู้ที่มีหน้าที่ปราบปราม นำคนผิดมาลงโทษ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าจับคนด้วยเพียงการคาดคะเน เพราะการลงโทษคนบริสุทธิ์เป็นบาปอย่างยิ่ง การปล่อยคนผิดไป ๑๐๐ คน ยังดีกว่าการลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว

.....๒. คนเราควรหาโอกาส “ตอบแทนคุณ” ของผู้ที่มีพระคุณต่อเราอยู่เสมอ

.....๓. ผู้ที่รู้บุญคุณและตอบแทนบุญคุณ ย่อมไม่ถึงความตกต่ำอย่างแน่นอน

.....๔. ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรม แม้ความตายมาถึงตัว ก็มีสติตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว สามารถเผชิญความตายโดยอาจหาญ ย่อมเป็นผู้ที่ “ประสบสุขได้แม้ในยามทุกข์”

.....๕. พี่น้องกันนั้น “ฆ่ากันไม่ตาย ขายกันไม่หมด” แม้จะมีเรื่องผิดใจกันอย่างไร แต่เมื่อมีเรื่องเดือดร้อน ย่อมพึ่งพากันได้

อายาจิตรภัตตชาดก ::สาเหตุที่ตรัสชาดก::

อายาจิตรภัตตชาดก

       

พระภิกษุเห็นชาวบ้านชาวเมืองพากันฆ่าสัตว์แก้บน หลังจากเดินทางไปค้าขายต่างเมืองกลับมา โดยปลอดภัย และได้กำไรดี จึงพากันไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า การฆ่าสัตว์แก้บนจะได้บุญหรือ

          ในอดีตกาล มีพ่อค้าคนหนึ่งจะเดินทางไปค้าขายยังเมืองไกล จึงพาบริวารมากราบไหว้ต้นไทรใหญ่หน้าบ้านของตน อธิษฐานขอให้เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ช่วยปกป้องคุ้มครองตนเองและพวกพ้องให้เดินทางโดยปลอดภัย ค้าขายได้กำไรงาม เมื่อกลับมาแล้วจะแก้บนให้ยิ่งใหญ่ทีเดียว

          ก่อนออกเดินทาง พ่อค้าได้ตระเตรียมการอย่างรอบคอบ จากนั้น จึงนำสินค้าบรรทุกเกวียนออกเดินทางไป ระหว่างทางได้ใช้เสบียงอาหารอย่างประหยัด เวลากลางคืนก็จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มแข็ง เนื่องจากพ่อค้าได้ศึกษาสภาพภูมิอากาศ และการทำมาหากินของคนในเมืองนั้น ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางแล้วว่าเป็นอย่างไร จึงได้นำสินค้าที่หายากและมีราคาแพงสำหรับที่นั่นไปขาย บางอย่างก็เป็นของแปลกใหม่ พ่อค้าวาณิชและชาวเมืองทั้งหลาย จึงพากันมาอุดหนุนอย่างคับคั่ง เขาจึงขายสินค้าได้กำไรงามสมดังที่หวังไว้

          เมื่อขายสินค้าที่นำไปจนหมดแล้ว เขาก็ซื้อสินค้าที่เป็นที่ต้องการของชาวเมืองของเขา บรรทุกเกวียนกลับมาค้าขายหากำไรต่อไปอีกด้วย

          ตลอดทางกลับบ้านเที่ยวนั้นพ่อค้าสุขใจยิ่งนัก เขาระลึกถึงคุณของเทวดา ที่ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองตน และบริวารให้ปลอดภัย และค้าขายได้กำไรงาม ขณะเดียวกัน ข่าวการกลับมาของพ่อค้า ก็แพร่กระจายไปสู่เพื่อนบ้านเรือนเคียงกันอย่างรวดเร็ว ต่างพากันมาต้อนรับและแสดงความยินดี

          พ่อค้าได้สั่งบริวารให้ฆ่าแพะ แกะ เป็น ไก่ พร้อมทั้งนำอาหารคาวหวานอีกมากมายมาแก้บนที่ต้นไทรใหญ่หน้าบ้าน
          ขณะนั้น ณ ต้นไทรใหญ่ รุกขเทวดาก็ปรากฏร่างขึ้นพร้อมกับถามว่า
          “ท่านวาณิช ท่านฆ่าสัตว์มากมายเพื่ออะไรกัน?”
          เมื่อพ่อค้าและบริวารตลอดจนฝูงชนที่อยู่ ณ ที่นั่น เห็นรุกขเทวดาปรากฏร่าง ก็ก้มลงกราบอย่างนอบน้อม พ่อค้ากล่าวขึ้นว่า
          “พวกข้าพเจ้าค้าขายได้กำไรงาม ทั้งการเดินทางก็ราบรื่นปลอดภัย เพราะได้บารมีของท่านช่วยคุ้มครอง พวกข้าพเจ้าจึงตอบแทนพระคุณตามที่ได้บนไว้แต่แรก”
          รุกขเทวดาได้ฟังก็หัวเราะและกล่าวว่า

          “พุทโธ่เอ๋ย! พวกท่านเข้าใจผิดเสียแล้ว ตลอดเวลาเราก็อยู่ที่ต้นไทรนี้ ไม่ได้ติดตามไปช่วยอะไรใครเลย ที่ท่านเดินทางโดยปลอดภัย และค้าขายได้กำไรงามนั้น เป็นเพราะความสามารถของท่านเองต่างหากเล่า ไม่ใช่เพราะเราหรอก”

          “เราขอเตือนว่า ถ้าท่านปรารถนาจะแก้บน ก็จงแก้ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเถิด เมื่อท่านละโลกนี้ไปแล้ว ท่านก็จะพ้นทุกข์ในโลกหน้า คือ ไม่ต้องไปตกอยู่ในอบายภูมิทั้ง ๔ แต่ถ้าท่านแก้บนด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็เท่ากับจะยิ่งติดเข้าไปในความทุกข์หนักขึ้นไปอีก เพราะเป็นการก่อบาปกรรม ผู้มีปัญญาจึงไม่ทำเช่นนี้ วิธีนี้เป็นวิธีของคนพาลโดยแท้”

          รุกขเทวดาได้แจกแจงโทษของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้วก็อันตรธานหายไป พ่อค้าพร้อมทั้งบริวาร และเพื่อนบ้านได้ฟังแล้วต่างพากันกลัวบาป เลิกการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เมื่อละโลกแล้ว ต่างได้ไปเกิดในสุคติภพ ตามกำลังแห่งกรรมดีของตนโดยทั่วหน้ากัน

::ข้อคิดจากชาดก::

          ๑. ผู้ที่ฆ่าสัตว์ ไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมไม่ได้บุญเลย แต่กลับจะได้รับทุกข์ เพราะเป็นการก่อบาปก่อเวรให้ตนเองทั้งสิ้น
          ๒. การทำพลีกรรมด้วยดอกไม้ธูปเทียน หรือถวายทานแด่พระภิกษุสามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ เป็นการบวงสรวงเทวดาอย่างถูกวิธี เรียกว่า เทวตาพลี
          ๓. การบนบานศาลกล่าว เป็นเรื่องของคนงมงายไร้เหตุผล เพราะเมื่อบุคคลประกอบเหตุที่ดีไว้แล้ว คือ ตั้งใจทำงานด้วยความมีสติรอบคอบแล้ว ย่อมได้รับผลสำเร็จอย่างแน่นอน

วันมาฆบูชา


วันมาฆบูชา (บาลีมาฆปูชาอักษรโรมัน: Magha Puja) เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1]"มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าในปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)[2]
วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศานาพุทธเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูปนั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4[3][4]
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น[5] โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร
ปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์[6] พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่นการตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์[7] ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชา ให้เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยวัยรุ่นสาวมักจะเสียตัวในวันวาเลนไทน์ หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก (อันบริสุทธิ์) แทน
สำหรับในปี พ.ศ. 2556 นี้ วันมาฆบูชาจะตรงกับ วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสุริยคติ

วันวิสาขบูชา


วันวิสาขบูชา (บาลีวิสาขปูชาอังกฤษVesak) เป็น "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล" ของชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก, วันหยุดราชการ ในหลายประเทศ และ วันสำคัญของโลก ตามมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ[1] เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก"วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน โดยในประเทศไทย ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 หลัง ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอื่นที่ไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติของไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม[2] และในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกาย ที่นับถือว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 นั้น เกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ๆ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท [3]
วันวิสาขบูชานั้น ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา(อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน
วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดียประเทศไทยประเทศพม่าประเทศศรีลังกาสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก[4] (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชาและวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากลนานาชาติ (International Day)" หรือ "วันสำคัญของโลก" ตามคำประกาศของที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 54 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตรการฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือความจริงของโลกแก่พหูชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 ทั้งสิ้นนี้ ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันพืชมงคล

วันพืชมงคล (อังกฤษ: Royal Ploughing Ceremony) เป็นวันสำคัญที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย มีการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณ สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประกอบด้วย 2 พระราชพิธีคือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีนี้กระทำที่ท้องสนามหลวง
ทางราชการกำหนดให้วันพืชมงคลเป็นวันเกษตรกร และกำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการ ยกเว้นธนาคารและบริษัทเอกชนบางแห่งไม่หยุดทำการ วันพืชมงคลจะไม่ตรงกับวันเดิมตามสุริยคติหรือจันทรคติของทุกปี แต่สำนักพระราชวังจะเป็นผู้ประกาศวันพืชมงคล ให้เป็นวันใดวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม แล้วแต่ในแต่ละปี

พระราชพิธีพืชมงคล

เป็นพิธีทางพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีสงฆ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นพิธีพราหมณ์มีมาแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใดๆ จึงว่างเว้นไป ๑๐ ปี ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น (พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง ๒๓ ปี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญ ร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงจัดให้เป็นวัน สำคัญของชาติ